Praneat Blog

Warittha Suwannakhrote
Account Executive
20 Apr 2020

สงครามวิดีโอของยักษ์ใหญ่ เมื่อ Facebook งัดทุกกระบวนท่า เพื่อฆ่า YouTube

Mark Zuckerberg ย้ำไว้หลายครั้ง และเคยพูดไว้ในปี 2016 ว่า “คอนเทนต์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว คือตัวหนังสือ ต่อมาเป็นรูปภาพ แต่นับจากวันนี้คือวิดีโอ คอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่ผู้คนจะเสพกันหลังจากนี้คือวิดีโอ”

หลังจากนั้น 1 ปี Facebook เปิดตัว Watch แพลตฟอร์มรวมวิดีโอในเดือนสิงหาคม ปี 2017 โดยสามารถใช้งานทั้งบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชั่น และทีวี (ในสหรัฐอเมริกา) ส่วนรูปแบบการใช้งาน จะแยกออกมาจากแท็บของ News Feed เพราะต้องการเป็นช่องที่มีแต่คอนเทนต์วิดีโอเท่านั้น ซึ่งชัดเจนว่าการส่ง Watch คือก้าวสำคัญที่ Facebook เปิดหน้าสู้เป็นคู่แข่งกับ YouTube โดยตรง

โมเดล Watch ของ Facebook เข้าใกล้ความเป็น YouTube เข้าไปทุกที

เนื่องจากแพลตฟอร์มวิดีโอคืออนาคตที่ Facebook มองไว้ และอีกอย่างคือ Watch สอดคล้องกับสิ่งที่ Facebook ต้องการ คือเน้นคอนเทนต์ไปที่ผู้ใช้งานมากขึ้น ทั้งเรื่องราวความบันเทิง ไลฟ์สไตล์ ดาราคนดัง และรวมถึงเหล่า Celebrity ทั้งหลาย

แรงจูงใจที่ Facebook ใช้คือ จะชักชวนให้ Creator เข้ามาสร้างคอนเทนต์ฟรี และจะได้รับเงินส่วนแบ่งจากค่าโฆษณา ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกันกับ YouTube หลังจากนั้นเริ่มใช้เงินจ้างทั้ง Creator สื่อสำนักข่าว และบริษัทโปรดักชั่นให้ผลิตคอนเทนต์มาลงใน Watch ซึ่งมีการเปิดเผยว่า ค่าว่าจ้างในการผลิตต่อ 1 ตอนนั้น มีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 3 แสนบาท ไล่ไปจนถึง 15 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับความยาว และความ Exclusive ของคลิปวิดีโอนั้นๆ

ผู้มาก่อน VS ผู้มาใหม่

นับวัน YouTube ยิ่งจะเริ่มออกกฎที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้เหล่าบรรดา Creator ทำงานยากขึ้น ซึ่งล่าสุดคือ การกำหนดกฎใหม่ในการทำเงินผ่านโฆษณา โดยระบุว่า ช่องของ Creator ต้องมียอดคนดูเกิน 4,000 คนในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา และมีผู้ติดตามเกิน 1,000 ราย

ในขณะที่ผู้มาใหม่อย่าง Watch ยังดูขาวสะอาด ไร้ความเข้มงวด การรุกหนักจึงทำได้เต็มกำลังมากกว่า ไม่ว่าจะทั้งจ้างคนมาผลิตคอนเทนต์ หรือเปิดพื้นที่ให้กว้างที่สุดเพื่อรองรับ Creator หน้าใหม่ๆ จากทุกสารทิศ ให้เข้ามาทำเงิน

Mashable เรียบเรียงไว้น่าสนใจว่า ทำไม Facebook ถึงจะฆ่า YouTube ได้ โดยประเด็นหลัก 3 ข้อ มีดังนี้

  • การใช้งานบน Facebook สูงกว่า YouTube อย่างเช่นในปี 2016 มีผู้ใช้งาน Facebook ในสหรัฐอเมริกาต่อวันเฉลี่ย 35 นาที ส่วนบน YouTube 17 นาที
  • จำนวนผู้ใช้งาน (Users) บน Facebook มีมากกว่า YouTube ที่ 2 พันล้านคน ส่วน YouTube มีอยู่ 1.5 พันล้านคน
  • จำนวนยอดการแชร์วิดีโอบน Facebook สูงกว่า YouTube ถึง 10 เท่า
  • ส่วนอีกหนึ่งประการคือ การแบ่งเงินให้กับ Creator ของ Facebook ที่ใช้มาตรการเดียวกันกับ YouTube คือแบ่งรายได้ 55% จากโฆษณาให้เป็นของ Creator

แนวทางของ Facebook Watch จะรุกหนักในปี 2018 แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืม คือเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไปเมื่อต้นปี คือการที่ Facebook เพิ่งสูญเสียความน่าเชื่อถือจากเหล่านักปั้นคอนเทนต์ และคนทำเพจไปครั้งใหญ่จากการประกาศล้างไพ่ News Feed ครั้งล่าสุด

แต่ถึงที่สุดแล้ว ด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ของ Facebook นี่อาจเป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็ต้องลงเล่น ด้วยว่าไร้ทางเลือกที่ดีกว่า

สิ่งที่น่าติดตามต่อจากนี้ไปในสงครามวิดีโอ คือจับตาดูว่า Facebook จะงัดกระบวนท่าอะไรออกมารบกับ YouTube (ซึ่งเจ้าของก็คือ Google) ที่เป็นเจ้าผู้ครองแพลตฟอร์มวิดีโอมายาวนานร่วมทศวรรษ

ที่มา : https://brandinside.asia/facebook-watch-vs-youtube/